บอน

วันศุกร์ที่ ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙




ขอบคุณข้อมูลจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี https://sites.google.com/site/chaibadanbon/home/bxn

บอน เป็นพืชล้มลุกชอบขึ้นตามชายน้ำหรือที่ลุ่มมีน้ำขัง ลำต้นเป็นหัวเล็ก ๆ อยู่ในดิน มีไหลที่สามารถเลื้อยไปเกิดเป็นต้นใหม่ได้ ก้านใบอวบน้ำ ขนาดใหญ่ยาว สีเขียวแกมม่วง โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำ มีน้ำยางเหนียวสีขุ่น ๆ หากโดนผิวหนังจะทำให้คัน จำแนกเป็น 2 ชนิด คือ

          1. บอนหวาน มีใบและต้นสีเขียวสดหรือสีเขียวอมน้ำตาล ไม่มีนวลสีขาวเคลือบอยู่ตามก้านใบ

          2. บอนคัน มีสีเขียวนวลและมีนวลเกาะตามก้านใบ หรือใช้มีดตัดก้านบอนทิ้งไว้สัก 5 นาที หากกลายเป็นสีเขียวแกมน้ำเงินแสดงว่าเป็นบอนคัน สิ่งที่ทำให้บอนคันก็คือ ผลึกของแคลเซียมออกซาเลต (calcium oxalate) ซึ่งก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ลิ้น และทางเดินอาหาร

          พบทั่วทุกภาคของไทย หาได้ตลอดทั้งปี นิยมนำก้านใบและใบอ่อนมาแกง นอกจากเป็นอาหารแล้วยังใช้ไหลตำกับเหง้าขมิ้นอ้อย ผสมเหล้าโรงเล็กน้อยใช้ฟอกฝี ราก ใช้ต้มน้ำดื่ม แก้ท้องเสีย แก้เจ็บคอ และเสียงแหบ

          เนื่องจากใบบอนมีขนาดใหญ่ และมีแอ่งตรงกลางใบทำให้รองรับหยดน้ำเอาไว้ได้ แต่ใบบอนมีลักษณะพิเศษคือไม่ดูดซับน้ำ ดังนั้นหยดน้ำบนใบบอนจึงรวมตัวกันเป็นก้อนอิสระพร้อมที่จะเคลื่อนไหวได้ทันทีที่มีการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย ประกอบกับใบบอนนั้นตั้งอยู่บนก้านใบที่ยาวมาก เมื่อมีแรงมากระทบเพียงเล็กน้อย (เช่นแรงลม) ก็ทำให้ใบบอนเคลื่อนไหวทันที หยดน้ำบนใบบอนก็จะเคลื่อนไหวไปด้วยในลักษณะที่เรียกว่า กลิ้งนั่นเอง จึงทำให้หยดน้ำบนใบบอนกลิ้งอยู่เสมอ อาจมีการหยุดนิ่งอยู่บ้าง เพียงช่วงสั้น ๆ ก็จะกลิ้งอีก ลักษณะของหยดน้ำ กลิ้งบนใบบอนจึงถูกนำมาใช้เป็นสำนวนไทยโบราณดังกล่าว การนำบอนมาเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนที่เข้าใจกันทั่วไปนั้น แสดงให้เห็นว่าบอนเป็นพืชที่ชาวไทย (ในอดีต) รู้จักเป็นอย่างดี  

3.1 บอน : ผักพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวไทย

        บอนเป็นชื่อของพืชที่มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Colocasiaesculenta ( Linn. ) Schott อยู่ในวงศ์ Araceae เช่นเดียวกับเผือก ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นใต้ดิน ก้านใบยาวชูสูงขึ้นจากดิน ใบขนาดใหญ่คล้ายรูปหัวใจ หรือหัวลูกศร ก้านใบมีโครงสร้างโปร่งเบาคล้ายก้านใบผักตบ หากหักก้านใบจะมียางไหลออกมา ดอกตัวผู้และตัวเมียอยู่บนช่อดอกเดียวกัน ไม่มีกลีบดอก แต่มีกลีบเลี้ยงหุ้มช่อดอกเอาไว้

        บอนเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตที่ราบลุ่มของเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมถึงพื้นที่ของประเทศไทยด้วย บอนจึงเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวไทยอย่างแท้จริง เนื่องจากรู้จักคุ้นเคยกันมายาวนาน จึงทำให้ชาวไทยนำบอนมาใช้ประโยชน์ได้หลายประการ รวมทั้งการใช้เป็นสำนวนไทยด้วย
ประโยชน์หลักของบอนที่ชาวไทยรู้จักดีที่สุดคือใช้เป็นผัก แต่บอนเป็นผักที่มีความพิเศษในตัวเอง เพราะต้องการความชำนาญในการปรุงอย่างถูกต้องจึงจะกินได้โดยไม่มีผลข้างเคียง เนื่องจากบอนมีคุณสม-บัติ( หรือโทษสมบัติ ) เด่นอย่างหนึ่งคือความคัน หากนำมาปรุงอาหารโดยปฏิบัติไม่ถูกต้องแล้ว ผู้ที่กินจะเกิดอาการคันปากคันคอ และผู้ปรุงอาหารจากบอนเองก็จะคันมือด้วย

        อาการคันปากคันมือที่เกิดจากบอนนี้ คงเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในหมู่ชาวไทยโบราณ จึงเกิดสำนวนอีกสองสำนวนเกี่ยวกับบอน นั่นคือ ปากบอนและมือบอน นับเป็นสำนวนที่แพร่หลายและรู้จักกันดีที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปี พ.ศ. 2493 อธิบายว่า “...อาการที่ปากหรือมืออยู่ไม่สุข เรียกว่า ปากบอนหรือมือบอน...อาการดังกล่าวนี้ยังคงพบเห็นอยู่ได้ ทั่วไปในที่สาธารณะและสื่อมวลชน

        แม่ครัว ( พ่อครัว ) ที่มีความชำนาญในการปรุงบอน จะมีวิธีทำให้บอนหายคันอยู่หลายวิธี เช่น ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ปี พ.ศ. 2416 ของหมอบรัดเลย์ กล่าวถึงบอนไว้ว่า กินดิบคันปาก ทำให้สุกกับไฟแล้วกินไม่คันการใช้ความร้อนจึงเป็นวิธีหนึ่งที่นิยมใช้กัน เช่น นำมาต้มเคี่ยวเป็นเวลานานพอสมควร นอกจากนี้ยังนำมาดองโดยขยำกับเกลือให้ยางบอนออกมากที่สุด หรือใส่ของที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้มมะขาม น้ำมะกรูด เป็นต้น แต่ต้องต้มเคี่ยวด้วย หากเป็นแม่ครัวสมัยใหม่ก็อาจใช้โซเดียมไบคาร์บอเนตได้ เพราะสารที่ทำให้บอนมีฤทธิ์คันก็คือ แคลเซียม อ็อกซาเลท (Calcium oxalate) ซึ่งเป็นผลึกรูปเข็ม ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อเยื่ออ่อน เช่น เยื่อบุช่องปากและในลำคอ เป็นต้น การต้มเคี่ยวและใช้สารต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วจะช่วยให้ผลึกแตกหักมีความแหลมน้อยลง จึงลดความดันได้ นอกจากนี้ แม่ครัวสมัยก่อนยังถือเคล็ดด้วยว่า ระหว่างการปรุงอาหารด้วยบอนอยู่นั้น ห้ามใครเอ่ยถึงคำที่เกี่ยวข้องกับความคันอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดอาการคันขึ้นมาจริง ๆ ทั้งผู้ปรุงและผู้กิน
ส่วนของบอนที่นิยมนำมาเป็นผักก็คือ ก้านใบ โดยลอกเอาเปลือกที่หุ้มอยู่ออกเสียก่อน ตำรับอาหารยอดนิยมจากบอนก็คือ แกงบอน ซึ่งมีรสออกไปทางหวาน นับเป็นแกงที่แพร่หลายที่สุดอย่างหนึ่งในหมู่ชาวไทยภาคกลาง นอกจากนี้ก้านบอนยังนำมาดองได้อีกด้วย

3.2 ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ของบอน

          บอนเป็นพืชที่มีลักษณะการขึ้นอยู่ในพื้นที่คล้ายกับผักตบนั่นคือในที่ขึ้นหรือบริเวณน้ำตื้นที่มีโคลนเลน แต่เนื่องจากบอนมีก้านใบยาวกว่าผักตบ จึงขึ้นได้ในบริเวณน้ำลึกกว่าผักตบ หนังสืออักขราภิธานศรับท์อธิบายถึงลักษณะดังกล่าวไว้ว่า “...บอนเป็นต้นผักอย่างหนึ่ง เกิดที่โคลน มีน้ำลึกคืบหนึ่งบ้าง ศอกหนึ่งบ้าง...เนื่องจากบอนขึ้นได้ในน้ำลึกกว่าผักตบ จึงครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่า ในหนองบึงบางแห่งที่มีน้ำไม่ลึกนัก จึงอาจมีบอนขึ้นอยู่เต็มทั้งพื้นที่ เช่นในจังหวัดสุพรรณบุรีมีบึงที่มีบอนขึ้นอยู่เต็ม ทำให้ชาวบ้านนับร้อยครอบครัวมีรายได้จากการตัดก้านบอนมาลอกเปลือกออกแล้วตากแห้ง ส่งขายเป็นสินค้าออกอย่างหนึ่ง มีรายได้ปีละนับล้านบาท และบอนยังช่วยรักษาชายฝั่ง แม่น้ำลำคลอง มิให้ถูกเซาะจากคลื่นอีกด้วย

          ใบของบอนมีคุณสมบัติพิเศษ คือไม่เปียกน้ำ เพราะมีขี้ผึ้งเคลือบอยู่บนผิว จึงนำมาใช้ประโยชน์ด้านห่อของได้ เช่น ใช้ห่อข้าวหมาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังใช้ตักน้ำดื่มยามไม่มีภาชนะ (เช่น แก้วน้ำ) ดังปรากฏในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนตัดพ้อนางพิม อันเป็นบทกลอนที่ไพเราะและมีเนื้อหากินใจอย่างยิ่ง คือ เจ้าลืมนอนซ่อนพุ่มกระทุ่มต่ำ เด็ดใบบอนช้อนน้ำในไร่ฝ้าย พี่กินหมากเจ้าอยากพี่ยังคาย แขนซ้ายคอดแล้วเพราะหนุนนอน
คุณสมบัติด้านสมุนไพรของบอนนั้นมีน้อยกว่าผักชนิดอื่น แต่มีหมอพื้นบ้านบางท้องถิ่น นำลำต้นใต้ดินของบอน ( หัว,เหง้า ) เป็นส่วนประกอบของยาพอกหัวฝีตะมอย

          ในประเทศไทยมีพืชที่ชื่อบอนอยู่หลายชนิด เช่น บอนเขียว บอนส้ม และบอนสี เป็นต้น แต่หากเปรียบเทียบประโยชน์ด้านนำมาเป็นผักแล้ว บอนที่กล่าวมาตั้งแต่ต้นนั้นเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด แม้ว่าแนวโน้มของคนไทยสมัยใหม่จะรู้จักบอนน้อยลงก็ตาม แต่เชื่อว่าความเป็นผักพื้นบ้านดั้งเดิมที่มีคุณสมบัติเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง คงจะทำให้บอนยังคงเป็นผักคู่คนไทยต่อไปนานเท่านาน

3.3 ประวัติแกงบอน

          แกงบอนของชุมชนจอมทองเป็นแกงโบราณอีกชนิดหนึ่งที่มีการสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลายาวนานประมาณ 200 - 300 ปี ซึ่งนิยมทำกันในงานเลี้ยงต่าง ๆ เช่น งานบวช งานศพ ฯลฯ ยกเว้นงานแต่งงาน เพราะมีความเชื่อว่าชื่อแกงไม่เป็นมงคล (สีนวล,2552) และสมัยโบราณยังมีความเชื่อว่าถ้าพูดคำว่า คันขณะแกงจะทำให้เมื่อรับประทานแล้วเกิดอาการคัน (อนงค์และอำพร,2552)เนื่องจากมีสารที่ทำให้บอนมีฤทธิ์คันก็คือ แคลเซียมออกซาเลท (calcium oxalate) ซึ่งเป็นผลึกรูปเข็ม ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อเยื่ออ่อนเช่น เยื่อบุช่องปากและในลำคอ เป็นต้น การต้มเคี่ยวและใช้สารโซเดียมไบคาร์บอเนตจะช่วยให้ผลึกแตกหักทำให้มีความแหลมน้อยลงจึงลดความคันได้ (เดชา, 2553)

วิธีการปรุงแกงบอน

    1.  ลอกเปลือกหรือเยื่อบอนออก  หั่นเป็นชิ้นหนาประมาณ2 เซนติเมตรโดยหั่นให้มีลักษณะเฉียงเพื่อให้น้ำแกงซึมได้ดี 

    2.  ต้มให้น้ำเดือดจากนั้นจึงใส่บอน จากนั้นต้มจนบอนสุกสังเกตได้โดยเนื้อบอนจะนิ่ม

    3.  นำบอนใส่ตะแกรงทิ้งให้สะเด็ดน้ำ

    4.  นำน้ำกะทิตั้งไฟพอเดือด  ใส่น้ำพริกแกงลงไปละลายจนเข้ากันดี จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำมะขาม  เกลือและน้ำตาล

    5.  นำบอนที่ต้มและสะเด็ดน้ำแล้วใส่ลงหม้อแกงขณะที่ส่วนผสมเดือดจากนั้นใส่ใบมะกรูด

  
   เคล็ดลับในการปรุงแกงบอน

    1.  การหั่นบอนควรหั่นเฉียงเพื่อให้น้ำแกงซึมเข้าเนื้อบอนได้ดี

    2.  การต้มบอนต้องรอให้น้ำเดือดก่อนจึงใส่บอนเพื่อป้องกันอาการคันของบอน บางพื้นที่มีวิธีป้องกันอาการคันโดยก่อนที่จะนำบอนมาแกงจะแขวนบอนผึ่งลมไว้ 1 คืน(รัตนา, 2542)

สรรพคุณแกง

     บอนแกงบอนมีส่วนประกอบทั้งในส่วนของน้ำพริกแกงและส่วนผสมเครื่องแกงแสดงดังตารางที่ 1 บอนซึ่งมีส่วนช่วยลดอาการไอและขับเสมหะ (มหาลัยราชภัฏสวนดุสิต, มปป) ในส่วนของน้ำพริกแกงประกอบด้วยพืชเครื่องเทศและพืชสมุนไพรได้แก่ ข่า ตะไคร้ กระชาย กระเทียมและหอม โดยพืชตังกล่าวมีสาร pinenes, galangin, methyl cinnamate, allicin, coumarins, cincole, eugenol, menthol, camphor, borneol และfenchone ซึ่งมีส่วนช่วยในการขับลม ขับน้ำดี ช่วยในการย่อยอาหาร ลดอาการจุกเสียด แก้ท้องอืดและป้องกันมะเร็ง (Evans BK, James KC, Luscombe DK, 1978) นอกจากนี้ยังพบสาร 1'-acetoxychavicol acetate และ 1'-acetoxyeugenol acetate ในข่าที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งแผลในกระเพาะอาหาร และสาร 5,7-dimethoxy flavone ในกระชายที่มีฤทธิ์ในการยับยั้งการสังเคราะห์ prostaglandinและ pinostrobin ซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์ cyclooxygenase-2 ที่เป็นสาเหตุของการอักเสบ (Bharmapravati S, Mahady GB, Pendland SL, 2003) ส่วนพริกแห้งมี capsaicin ช่วยในการขับก๊าซ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะและช่วยให้เจริญอาหาร (รุ่งรัตน์, 2540 และ Ezythaicooking, 2007) และในถั่วยังมีโปรตีนสูง วิตามินที่ช่วยในการบำรุงสมอง เสริมความจำ (สารานุกรมเสรี,มปป) ใบมะกรูดมีสาร cironellal  ต้านมะเร็ง ลดอาการไอและดับกลิ่นคาวได้ (รุ่งรัตน์,2540)

แกงบอนภาคเหนือ


ส่วนผสม แกงบอน ภาคเหนือ

        บอนต้นอ่อน 8 ต้น

        หูหมู 1/2 ถ้วย

        น้ำมะขามเปียก 2 ช้อนโต๊ะ

        ข่าหั่น 5 แว่น

        ตะไคร้ 1 ต้น

        กระเทียม 1 ช้อนโต๊ะ

        ใบมะกรูด 5 ใบ

        กระเทียมเจียว 2 ช้อนโต๊ะ

        น้ำมันพืช 2 ช้อนชา

          เครื่องแกง พริกขี้หนูแห้ง 15 เม็ด กระเทียม 10 กลีบ หอมแดง 5 หัว ตะไคร้ซอย 1 ช้อนโต๊ะ กะปิ 1 ช้อนชา ปลาร้าต้มสุก 1 ช้อนโต๊ะ เกลือ 1/2

          วิธีทำ บอนปอกเปลือก หั่นเป็นท่อน ล้างน้ำ แล้วนำไปนึ่ง  นึ่งให้สุกจนเละ ประมาณ 30 นาที แล้วพักไว้ โขลกเครื่องแกงรวมกันให้  ละเอียด เจียวกระเทียมพอให้เหลือง ใส่เครื่องแกงลงผัดให้หอม ใส่ข่าหั่น ตะไคร้ซอย ผัดให้เข้ากัน ใส่น้ำมะขามเปียก เกลือ ผัดให้เข้ากัน ใส่หูหมู ผัดให้เข้ากัน  ใส่บอนลงผัดให้เข้ากัน  ใส่ใบมะกรูดฉีก คนให้เข้ากัน ปิดไฟ รับประทานได้

แกงบอนภาคอีสาน


ส่วนผสม

        บอนหวานปอกเปลือกตัดเป็นท่อนขนาด 2 ข้อมือ 1 ถ้วย

        น้ำย่านาง 1½  ถ้วย

        ตะไคร้ 1 หัว

        พริกสด 3-5 เม็ด

        ยอดมะขามอ่อน 10-15 ยอด

        ผักอีตรู่ 3-5 ยอด

        น้ำปลาร้า 2 ช้อนโต๊ะ

        เกลือ ½  ช้อนชา

         วิธีทำ ต้มน้ำเปล่าให้เดือด เอาบอนหวานที่เตรียมไว้ลงต้มนานประมาร  5 นาที ตัดขึ้นแช่น้ำน้ำเย็นพักไว้ ต้มน้ำย่านางให้เดือด โขลกพริกพอบุบและหั่นตะไคร้ลงหม้อ เอาบอนที่แช่น้ำไว้ขึ้นให้สะเด็ดน้ำเทลงในหม้อ ใส่ปลาร้า เกลือ น้ำปลา ใส่ยอดมะขามอ่อน ชิมรสตามใจชอบ ใส่ผักอีตู่ (แมงลัก) ยกลงจากเตา

แกงบอนภาคกลาง


ส่วนประกอบ

        ปลาช่อนน้ำหนัก 700-800 กรัม 1 ตัว

        บอนก้านอวบ ๆ 10 ก้าน

        ใบมะกรูด 5 ใบ

        มะกรูดผ่า 4 ชิ้นแกะเม็ดออก 1 ลูก

        น้ำตาลปีบ 4-5 ช้อนโต๊ะ

        เกลือป่น 1 ช้อนชา

        น้ำปลา 1/4 ถ้วย

        น้ำมะกรูด 1 ช้อนโต๊ะ

        ปลาร้าปลากระดี่ 1/2 ถ้วย

        น้ำ 5 ถ้วยเครื่องแกง

        พริกแห้งแกะเมล็ดออกแช่น้ำ 5 เม็ด

        หอมแดงซอย 10 หัว

        กระเทียม 5 หัว

        ข่าหั่นฝอย 1 ช้อนชา

        ตะไคร้หั่นฝอย 2 ช้อนโต๊ะ

        กระชายขูดผิวหั่นฝอย 1/2 ถ้วย

        ผิวมะกรูดหั่นฝอย 1 ช้อนชา

        เกลือป่น 1 ช้อนชา

        กะปิ 1 ช้อนชา

        โขลกเครื่องแกงทั้งหมดรวมกันให้ละเอียด

 วิธีการทำ

        ขอดเกล็ดปลา ผ่าท้องควักไส้ออก ล้างให้สะอาด แบ่งท่อนหางไว้ยาวประมาณ 5 นิ้ว  ท่อนหัวหั่น เป็นแว่น พักไว้ นำท่อนหางไปต้มให้สุก แกะเอา แต่เนื้อ โขลกเครื่องแกงกับเนื้อปลาที่แกะไว้เข้าด้วยกัน  ปอกเปลือกบอน ล้างให้สะอาด หั่นท่อนยาว 2 นิ้ว  ใส่น้ำ 1 ถ้วยในหม้อ ใส่ปลาร้า ยกขึ้นตั้งไฟ คนให้ละลาย กรองเอากากทิ้ง  ใส่น้ำที่เหลือลงหม้อ ตั้งไฟให้เดือด ใส่บอน เกลือ กดให้บอนจม ต้มจนบอนเปื่อยนุ่ม ใส่เครื่องที่โขลก น้ำปลาร้า ต้มให้เดือด ปรุงรสด้วยน้ำมะขามเปียก น้ำปลา น้ำตาลปีบ น้ำมะกรูด มะกรูด ปล่อยให้เดือด ใส่เนื้อปลา ต้มให้เดือดและปลาสุก ใส่ใบมะกรูด ปิดไฟ ยกลง

        หมายเหตุ รสของแกงบอนควรให้มีรสหวานนำ เปรี้ยวเล็กน้อย

แกงบอนใส่หมู


ส่วนประกอบ

        เครื่องแกง (พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง ตะไคร้ กะปิ ปลาร้า)

        ยอดอ่อนบอนหรือหลี่บอน

        แคบหมู

        หนังวัวหรือควาย

        กระดูกหมู

        ใบมะกรูด (ฉีกเป็นชิ้น ๆ)

        ผักชี (หั่นฝอย)

        น้ำมะขามเปียก

วิธีทำ           

    นำส่วนผสมเครื่องแกงทั้งหมดมาโขลกให้ละเอียด นำหนังวัวหรือควายเผาไฟ ขูดทำความสะอาดดีแล้ว หั่นเป็นชิ้น ๆ ต้มจนเปื่อย แล้วเอาน้ำพริกแกงลงละลายให้เข้ากัน จากนั้นนำหลี่บอนและต้นอ่อนบอนที่ล้างสะอาดแล้วตัดเป็นท่อน ๆ นำไปต้มกับหนังวัวหรือควาย เคี่ยวจนเละ โดยอาจใช้ทัพพีคนบ่อย ๆ หรือใช้ไม้ปั่นบอนให้เละ ใส่น้ำมะขามเปียกเล็กน้อย ปรุงรสด้วยน้ำปลา ก่อนยกลงจาก

เตาใส่ใบมะกรูดและโรยหน้าด้วยผักชี บางครั้งเมื่อแกงเสร็จแล้ว นำไปผัดกับน้ำมันอีกที บางสูตรจะนำใบบอนและหลี่บอนไปนึ่งให้สุกก่อน แล้วจึงนำไปคนกับเครื่องแกงให้เข้ากัน ก่อนนำไปผัดกับน้ำมัน ใส่น้ำมะขามเปียก ตามด้วยใบมะกรูด 
      
หมายเหตุ สามารถใช้ใบและยอดอ่อนของเผือกแทนบอนก็ได้ และใช้ยอดส้มป่อยปรุงให้แกงมีรสเปรี้ยวแทนมะขามเปียกก็ได้ หากไม่มีหนังวัวหรือควาย จะใช้แคบหมู หรือกระดูกหมูแทนก็ได้ ชาวปางมะโอนิยมใช้ผักอี่เรือน ผักแปม ผักคาวตอง กระเทียม หรือมะแขว้งขม กินเป็นผักสดแกล้มกับแกงบอน

แกงบอน ขอบคุณข้อมูลจากอาหารพื้นบ้านล้านนา

แกงบอนเมือง ๆ ลำแต้ลำว่า ขอบคุณข้อมูลจากกินเปลี่ยนโลก

บทความสร้างรายได้จากการจำหน่ายบอนตากแห้ง (ขอบคุณข้อมูลจาก อบต.วัดจันทร์)


          นางสนิท  บุญปกครอง อายุ 67 ปี ชาวบ้าน หมู่ที่ 2 ตำบลวัดจันทร์ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกสร้างรายได้ให้ตนเองและครอบครัว ด้วยการนำบอนมาตากแห้งเพื่อจำหน่ายส่งขายให้พ่อค้า ที่เดินทางมารับซื้อจากจังหวัดกำแพงเพชร 
          นางสนิทเปิดเผยว่า ตนเองจะไปเก็บบอนที่มีอยู่ตามสถานที่ต่างๆ บริเวณรอบบ้าน และในเขตตัวเมืองพิษณุโลก มาทำการตากแห้งโดยจะทำกับครอบครัว ทำให้มีรายได้ไว้ใช้จ่ายในทุกเดือน และเป็นอาชีพที่ทำอยู่ที่บ้าน สำหรับผู้ใดที่สนใจตนเองก็ยินดีแนะนำให้เพราะในปัจจุบันบอนตากแห้งก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยสามารถไปหาตนเองที่บ้านได้ในทุกวัน และทางฝ่ายข่าวบริษัทเอ็มเอสเอสเคเบิลทีวีจำกัดสาขาพิษณุโลกได้เดินทางมาถ่ายทำการประกอบอาชีพของนางสนิทและครอบครัวเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชนทั่วไปในการยึดเป็นอาชีพสร้างรายได้ 
          นางสนิทและครอบครัวจึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่าความขยันอดทนในการประกอบอาชีพจะนำมาซึ่งรายได้ของครอบครัว 


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น